คลีนิคหมอดูสุขภาพจิต คลีนิคสุขภาพจิต
จิตเวช สระบุรี
สมชาย สำราญเวชพร จิตเวช สระบุรี
หมอดูสุขภาพจิต หนังสือสุขภาพจิต สมชาย สุขภาพจิต หมอดู สระบุรี ถามตอบสุขภาพจิต หมอสมชาย สำราญเวชพร
นายแพทย์สมชาย สำราญเวชพร
นายแพทย์สมชาย สำราญเวชพร
ปัญหาสุขภาพจิต
 
สั่งซื้อหนังสือ
หนังสือสุขภาพจิต
โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)

โดยธรรมชาติ วัยทารกและเด็กจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอน และในวัยหนุ่มสาวมักจะใช้เวลานอน 1/3 ของวัน หรือ 7-8 ชั่วโมง เมื่ออายุมากกว่า 30 ขวบปี เวลานอนจะค่อยๆ ลดลง กระทั่งเมื่อเข้าสภาวะสูงวัย การนอนอาจลดลงเหลือ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น

ความสำคัญของการนอนอยู่ที่คุณภาพ คุณภาพการนอนที่ดี เมื่อตื่นแล้วจะสดชื่น ไม่มีอาการง่วงซึม ไม่ปวดศีรษะ และกล้ามเนื้อมัดต่างๆ พร้อมจะทำงาน ร่างกายไม่อยู่ในอาการล้า อย่างไรก็ตามบางคนแม้ว่าจะนอนด้วยเวลาที่มาก หากแต่คุณภาพการนอนที่ไม่ดี ย่อมทำให้เขาเกิดอาการง่วงซึมทั้งวัน และอาจเกิดอาการหงุดหงิด ขี้ลืม ทำอะไรพลั้งเผลอบ่อยๆ

ปัจจัยเกี่ยวข้องกับการนอน : อายุ เพศ ความรับผิดชอบ อากาศและอุณหภูมิ เสียงและสิ่งรบกวน น้ำหนักตัว อาหารและสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร โรคภัย รวมถึงความเครียด

ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก เห็นชัดที่คอมักจะใหญ่ สั้นและเห็นเป็นปล้องๆ ทำให้การนอนเกิดอาการนอนกรน หรืออาจหยุดหายใจเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะช่วงที่หยุดหายใจจะทำให้สมองได้รับปริมาณอ้อกซิเจนไม่เพียงพอ เป็นปัญหาต่อการนอน สำหรับความเครียดก็เช่นกัน อาจออกมาในรูปแบบของความฝันมากมายตลอดทั้งคืนที่จับใจความไม่ค่อยได้ ความฝันที่เจือปนไปด้วยอารมณ์ต่างๆ

อาการนอนไม่หลับช่วงต้น (Initial Insomnia) หมายถึงการนอนหลับยาก กระสับกระส่าย ใช้เวลาข่มตานอนหลับนานมาก และในที่สุดก็พล่อยหลับไป จากนั้นก็สามารถหลับได้ตลอดคืน ส่วนใหญ่มักเกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล มีเรื่องให้คิด เพราะตราบใดที่ยังไม่หยุดคิด สมองภาคเช้า (สมองส่วนใช้ความคิด) ก็ยังคงทำงาน และไม่เปิดโอกาสให้สมองภาคกลางคืน (สมองส่วนบันทึก) ทำงาน ตราบกระทั่งสมองภาคเช้าหยุดทำงานนั่นเอง

อาการนอนไม่หลับช่วงกลาง (Middle Insomnia) และอาการนอนไม่หลับช่วงปลาย (Terminal Insomnia) หมายถึงการนอนตื่นกลางดึก หรือหลับๆ ตื่นๆ และครั้นตื่นขึ้นมาก็จะไม่หลับเลย การนอนในช่วงต้นอาจไม่มีปัญหา สามารถหลับได้ แต่ครั้นหลับไปราว 3 ชั่วโมงกลับตื่นขึ้นมาเอง ทำให้การนอนมีช่วงเวลาที่สั้นไป และอาจข่มตาหลับอีกได้ยาก อาทิ การดื่มสุรา หรือผู้ติดสุรา มักจะหลับง่ายด้วยฤทธิ์เมา เมื่อเขาหลับราว 4 ทุ่ม เขากลับตื่นเองในตอนตี 1 อย่างไรก็ตาม เขาอาจสามารถหลับต่อได้อีก สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มักมีอาการตื่นกลางดึกเช่นกัน บางรายตื่นมาพร้อมๆ กับฝันร้าย หรือมีอารมณ์เศร้าอยากร้องไห้ บางรายตื่นขึ้นมาร้องไห้และมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย เป็นต้น

อาการนอนไม่หลับ ทำให้ผู้ป่วยแสวงหายาทานเอง เกิดปัญหาติดยาเพราะความกลัวว่าจะนอนไม่หลับ สมควรต้องมารักษาอย่างถูกวิธี อนึ่งอาการนอนไม่หลับที่เป็นอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้า จำเป็นต้องมาพบจิตแพทย์

 
รูปภาพ
 
Copy All Right Reserved 2013 www.หมอดูสุขภาพจิต.com
เลขที่ 1/26 ถ.สุดบรรทัด13 ต.ปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี 18120